การดื่มชา …
มาทำความรู้จักกับกาแฟ GI ไทย
มาทำความรู้จักกับกาแฟ GI ไทย
เคยสงสัยกันไหมว่า….ทำไมรสชาติของกาแฟที่ดื่มจึงมีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของกลิ่น รสชาติ รสสัมผัส ฯลฯ วันนี้จะพามาทำความรู้จักกับกาแฟ GI เป็นกาแฟที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI: Geographical Indication) คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว GI จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย คือ ตราของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ออกให้แก่ผู้ผลิตสินค้าเพื่อรับรองว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่ได้รับขึ้นทะเบียนไว้โดยต้องปฏิบัติตามคู่มือและแผนการควบคุม
ปัจจุบันกาแฟที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้วได้แก่ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง จังหวัดเชียงราย กาแฟเทพเสด็จ จังหวัดเชียงใหม่ กาแฟดงมะไฟ กาแฟวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา กาแฟเขาทะลุ กาแฟถ้ำสิงห์ จังหวัดชุมพร และกาแฟเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่
กาแฟดอยตุง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 เป็นกาแฟอาราบิก้าที่เป็นลูกผสมสามสายเลือด คือ สายพันธุ์คาติมอร์ สายพันธุ์คาทุยรา สายพันธุ์คาทุย ที่มีการผสมกลับไปยังสายพันธุ์คาทุยรา 4-6 ช่วง เพื่อให้เกิดคุณสมบัติคงที่ ปลูกในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงบนเทือกเขานางนอนจังหวัดเชียงราย ที่ระดับความสูง 800-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีเอกลักษณ์ มีกลิ่นหอมหวานจากผลไม้ มีรสชาติเปรี้ยวเล็กน้อย แต่ไม่เปรี้ยวจัด มีเนื้อสัมผัสและรสชาติกำลังดี
กาแฟดอยช้าง ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม 2549 โดยกลุ่มผู้ปลูกกาแฟดอยช้าง กาแฟดอยช้างคือ กาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์หลัก คาทูรา คาติมอร์ และคาทุย ที่ได้จากผลกาแฟสดที่ปลูกที่หุบเขาดอยช้าง ที่ระดับความสูง 1,000-1,700 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย นำมาผลิตด้วยกรรมวิธีมาตรฐานเป็นกาแฟสารและกาแฟคั่วบดที่มีคุณภาพสูง รสชาติอ่อนคล้ายไวน์ขาว และมีกลิ่นหอม ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น
กาแฟเทพเสด็จ ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2558 โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟสดแม่ดอน กาแฟเทพเสต็จ คือ กาแฟพันธุ์อาราบิก้า สายพันธุ์คาติมอร์ คาทูรา และคาทุย ที่ปลูกในพื้นที่ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ บนความสูงระดับ 1,100-1,600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง กาแฟสารมีสีเขียวอมเทา สีเขียวอมฟ้า กาแฟคั่วเมล็ดมีสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นหอม กาแฟคั่วบดมีสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม รสชาติกลมกล่อม
กาแฟดงมะไฟ ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 เน้นการปลูกแบบอินทรีย์ปลอดสารเคมี บนผืนป่าแหล่งต้นน้ำตามธรรมชาติ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 400-700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ในพื้นที่หมู่บ้านดงมะไฟ ตำบลมะเกลือใหม่ อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เป็นกาแฟที่มีอัตลักษณ์ รสชาติกลมกล่อม กลิ่นหอม
กาแฟวังน้ำเขียว ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559 กาแฟวังน้ำเขียว เป็นกาแฟอาราบิก้า สายพันธุ์คาร์ติมอร์ F-7 และกาแฟโรบัสต้า พันธุ์ชุมพร 2 ที่ปลูกที่ระดับความสูง 400-600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ด้วยกรรมวิธีการผลิตมาตรฐานเป็นกาแฟสารและกาแฟคั่ว-บด กาแฟอาราบิก้า สายพันธุ์คาร์ติมอร์ F-7 รสชาติกลมกล่อม ละมุน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว กาแฟโรบัสต้า พันธุ์ชุมพร 2 รสชาติขมเข้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว
กาแฟเขาทะลุ คือกาแฟโรบัสต้า ที่ได้จากผลกาแฟสด ปลูกบนพื้นที่ระดับความสูง 200-300 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในเขตตำบลเขาทะลุ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ผลสุกสีแดง สารกาแฟสีน้ำตาลอ่อน นำมาผลิตด้วยกรรมวิธีมาตรฐานเป็นกาแฟคั่ว กาแฟบด และกาแฟสำเร็จรูป รสชาติขมเข้ม มีกลิ่นเฉพาะตัว เป็นกาแฟคั่วที่มีระดับการคั่วตั้งแต่ การคั่วแบบอ่อน การคั่วแบบกลาง และการคั่วแบบเข้ม
กาแฟเมืองกระบี่ ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 คือกาแฟโรบัสต้า สายพันธุ์พื้นเมือง ที่ปลูกบนพื้นที่ราบหรือที่ราบเชิงเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ที่ผ่ลิตในเขตพื้นที่จังหวัดกระบี่ เป็นกาแฟสาร กาแฟคั่ว และกาแฟคั่วบด มีค่าคาเฟอีนร้อยละ 1.5-4 ของน้ำหนัก รสชาติขม เข้ม และกลมกล่อม
กาแฟถ้ำสิงห์ชุมพร ขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ วันที่ 27 กันยายน 2564 ในรูปของสินค้ากาแฟสาร กาแฟคั่วและกาแฟคั่วบด ซึ่งมีจุดเด่นเฉพาะพื้นที่ปลูก เป็นพื้นที่ราบเชิงเขาหินปูนระดับความสูง 85 – 120 เมตรจากระดับน้ำทะเล
กาแฟแต่ละพื้นที่มีรสชาติที่แตกต่างกัน เลือกดื่มด่ำได้ตามความชอบ
* ขอบคุณข้อมูล: กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
มาร่วมดื่มด่ำกับรสชาติกาแฟที่หลากหลาย ในงาน ASEAN CAFÉ 2023!
26-29 ตุลาคมนี้ 10.00-19.00 น. ฮอลล์ 103-104 BITEC บางนา กรุงเทพฯ
ลงทะเบียนล่วงหน้าพร้อมลุ้นรับรางวัลได้ที่ >> https://shorturl.at/blIZ3